เจาะลึกการทำ Portfolio คณะแพทย์ กับน้องต้นน้ำ แพทย์จุฬาภรณ์

Portfolio - คณะแพทย์ - น้องต้นน้ำ - Bigcover01new

เจาะลึกการทำ Portfolio เพื่อยื่นคณะแพทย์ กับน้องต้นน้ำ แพทย์จุฬาภรณ์รอบพอร์ต

          สวัสดีครับน้องๆ ทุกคน ช่วงนี้ใกล้เข้าวันสอบ BMAT รอบแรกเข้ามาทุกทีนะครับ วันนี้พี่แอดมินเลยพา “น้องต้นน้ำ ธันย์ชนก โสตะจินดา จากโรงเรียนมัธยมปัญญารัตน์” รุ่นพี่จาก ignite by OnDemand ที่ใช้คะแนน BMAT ในการยื่นและติดแพทย์รอบ 1 มาเจาะลึกเรื่องราวการทำ Portfolio ให้น่าสนใจเพื่อใช้ยื่นคณะแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการทำจิตอาสา การทำวิจัยหรือเคล็ดลับการทำเล่ม Portfolio คณะแพทย์ บอกเลย…น้องๆ ว่าที่หมอ ห้ามพลาดสักประเด็นนะครับ !

เริ่มต้นจากการรู้ตัวว่าอยากเป็นหมอตั้งแต่ ม.4 และตัดสินใจทำตามความฝัน

         ต้นน้ำรู้ว่าตัวเองอยากเข้าหมอตั้งแต่ ม.4 เลยค่ะ เพราะตอนมอปลาย เราได้มีโอกาสเรียนวิชาชีวะ แล้วรู้สึกชอบวิชานี้มาก รู้เลยว่าเราอยากอยู่กับการเรียนรู้ เกี่ยวกับวิชานี้ตลอดชีวิตเลยค่ะ แต่ถ้าถามว่าทำไมเราไม่ไปเรียนคณะวิทยาศาสตร์ล่ะ? อาจเพราะเรายังรู้สึกว่า มันอาจจะเถรตรงสำหรับเราเกินไป  ซึ่งตัวต้นน้ำเองเป็นคนที่ค่อนข้างชอบการเรียนรู้ที่หลากหลาย และชอบทำงานกับคนเยอะๆด้วย ซึ่งสิ่งที่บอกได้ชัดเจนที่สุดว่าตัวเราอยากเป็นหมอ คือการที่ต้นน้ำชอบช่วยเหลือคนอื่น ชอบพบปะผู้คนมากมาย ผนวกกับความชอบด้านศาสตร์ชีววิทยา เราเลยตัดสินใจว่าเราอยากเป็นหมอ และเริ่มเตรียมตัวมาตั้งแต่ม.4 เลยค่ะ

การเตรียมตัวเพื่อสอบเก็บคะแนนแต่ละวิชา การฝึกฝนคือสิ่งสำคัญที่ทำให้เราทำสำเร็จ

         สำหรับการเตรียมตัวเพื่อสอบเข้าคณะแพทย์ของต้นน้ำ เริ่มจากการเก็บคะแนนวิชา SAT Subject Test Chemistry ก่อนค่ะ ซึ่งวิชานี้ตอนแรกเราไปเรียนพิเศษมาหลายที่แต่ก็ยังรู้สึกว่าได้รับความรู้ไม่เต็มที่สักเท่าไร แต่พอต้นน้ำได้มาเรียนที่ ignite by OnDemand ในคอร์ส SAT Subject Test Chemistry กับครูพี่ก๊อฟ  เรารู้สึกว่าที่นี้เป็นโรงเรียนกวดวิชาที่ใช่สำหรับเรามากค่ะ บรรยากาศการเรียน ความอบอุ่นของพี่ๆที่ดูแลเรา หรือความรู้ที่ได้อย่างเต็มที่จากคุณครูพี่ก๊อฟ สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ต้นน้ำรู้สึกผ่อนคลายกับการเรียน และมั่นใจในการเตรียมตัวสอบ เราเลยมีการพัฒนาทักษะของเราขึ้นไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็สามารถได้คะแนน SAT Subject เคมีตามที่หวังไว้ค่ะ

         ต่อไปเราก็เริ่มเตรียมตัวสอบวิชาชีวะค่ะ ต้นน้ำอ่านโจทย์เยอะมากและฝึกทำข้อสอบมากกว่าวิชาอื่น โดยตอนนั้นต้นน้ำได้เรียนคอร์ส BMAT ที่ ignite by OnDemand ด้วยค่ะ ซึ่งเรานำความรู้ในคอร์สนี้มาปรับใช้กับวิชา SAT Subject Test Biology เพราะต้นน้ำมองว่าเนื้อหาของทั้งสองวิชา มีส่วนที่สอดคล้องกันอยู่ค่ะ จากนั้นจะตามด้วยวิชาฟิสิกส์ค่ะ นอกจากการเรียนและการอ่านหนังสือ ต้นน้ำว่ากิจกรรม Mock Exam ที่ ignite by OnDemand ช่วยเราได้มากๆ เลยค่ะ การเป็นนักเรียนของที่นี่สามารถเข้าร่วมกิจกรรม Mock Exam ได้ฟรี ถือว่าเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้เจอกับข้อสอบ และสถานการณ์เสมือนห้องสอบจริง ต้นน้ำว่ามันช่วยลดความตื่นเต้น และทำให้เราไม่ประหม่าตอนไปสอบจริง ได้อย่างมากเลยนะคะ

ตัดสินใจยื่นแพทย์รอบ Portfolio เพราะชอบภาษาอังกฤษและอยากใช้มันให้เป็นประโยชน์

         ต้นน้ำคิดว่าเราชอบภาษาอังกฤษ และรู้สึกว่าตัวเองมีศักยภาพด้านนี้ค่ะ เมื่อรู้ว่าการเข้าคณะแพทย์เปิดให้ยื่นคะแนนสอบ BMAT และ SAT Subject Tests ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งทางเลือก สำหรับนักเรียนที่มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ ต้นน้ำจึงเห็นโอกาสที่จะได้ใช้ศักยภาพด้านนี้ ให้เป็นประโยชน์กับความฝันของตัวเอง และเรายังคิดว่านอกจากความรู้ด้านวิทยาศาตร์แล้ว ความรู้ด้านภาษาอังกฤษยังจะทำให้ต้นน้ำ เป็นบุคคลากรด้านการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ และเราสามารถนำความรู้ด้านภาษาอังกฤษ ไปพัฒนาวงการแพทย์ของไทยได้อีกด้วยค่ะ

Portfolio - คณะแพทย์ - น้องต้นน้ำ - Bigcover02

เคล็บลับการเตรียมตัวทำ Portfolio คณะแพทย์ ให้ชัวร์ว่าผลงานของเราจะมีความน่าสนใจ

         ต้นน้ำได้เริ่มเตรียมตัวทำ Portfolio ตอนม.5 จะขึ้นม.6 ค่ะ ถือว่าเป็นการเตรียมตัวที่ค่อนข้างช้าพอสมควรนะคะ เพราะว่าก่อนหน้านั้นเราเตรียมตัวสอบหนักมาก เราเลยอยากแบ่งเวลาให้ชัดเจนไปว่าควรจะโฟกัสกับอะไร เมื่อเรามั่นใจเรื่องการสอบแล้ว เราจึงเริ่มเตรียมตัวทำ Portfolio ค่ะ เริ่มจากทำ Checklist มหาวิทยาลัยที่อยากเข้า โดยต้นน้ำได้ทำพอร์ตยื่นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสยาม คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ค่ะ จากนั้นเราจะตรวจสอบเกณฑ์หรือข้อบังคับต่างๆ ในการทำกิจกรรมจิตอาสาของแต่ละมหาวิทยาลัย และสร้าง Checklist ว่าแต่ละที่ต้องการผลงานแบบไหนบ้างค่ะ

         ซึ่งส่วนใหญ่เกือบทุกมหาวิทยาลัย ก็จะมีแนวทางที่ค่อนข้างคล้ายกันค่ะ แต่จะมีบางที่ ที่ได้ระบุกิจกรรมจิตอาสาไว้แตกต่างกับที่อื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ระบุว่าเราต้องเคยมีการรณรงค์กิจกรรมด้านสารเสพติด หรือมีผลงานด้านศิลปะความคิดสร้างสรรค์มาก่อนค่ะ และอย่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็จะมีการวัดทักษะภาษาอังกฤษ ด้านฟัง พูด อ่าน เขียนเพิ่มขึ้นมาค่ะ โดยทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะวัดจากการเขียนโน้มน้าวใจ ที่เราต้องเขียนเองด้วยลายมือตัวเขียนนะคะ โดยเนื้อหาที่เรานำเสนอ ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับผลงานที่ได้รับรางวัลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่สามารถเขียนถึงผลงานอื่นๆของเราที่ไม่ได้รับรางวัลก็ได้ค่ะ ซึ่งเราต้องนำเสนอตัวเองให้กรรมการได้เห็นว่างานที่เราทำมาแม้จะไม่ได้รางวัล แต่เราก็ได้ประสบการณ์และความรู้ที่สามารถนำไปสร้างประโยชน์ ให้กับมหาวิทยาลัยและคณะที่เราต้องการจะเข้าค่ะ

การทำ Portfolio คณะแพทย์ ที่น่าสนใจต้องแตกต่างและตอบโจทย์มหาวิทยาลัยที่เราจะนำไปยื่น

         อย่างที่บอกไปนะคะหลังจากทำ Checklist ข้อมูลใน Portfolio ของแต่ละมหาวิทยาลัยแล้ว เราก็เริ่มทำกิจกรรมต่างๆที่จะมา Support Portfolio ให้น่าสนใจและตรงกับความต้องการของมหาวิทยาลัยที่เราจะไปยื่นค่ะ อย่างเช่นในหัวข้อกิจกรรมด้านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ ต้นน้ำเลือกที่จะไปสร้างงานปั้นดิน Air-Dry โดยเราได้ปั้นเป็นรูปมือที่ได้เห็นข้อนิ้ว เห็นเล็บอย่างชัดเจน ถือว่าเกือบถูกหลัก Anatomy ทุกอย่างเลยค่ะ ทำให้ผลงานชิ้นนี้ของเรามีความแตกต่างจากงานศิลปะของคนอื่นๆ และตรงกับความต้องการของคณะที่เราจะเข้าไปเรียนด้วยค่ะ  นอกจากนี้ต้นน้ำยังได้ใส่ผลงานด้านภาวะผู้นำที่เราได้เป็นรองประธานนักเรียน และใส่งานวิจัยที่เราเคยทำมาเพื่อ Support ผลงานด้านวิชาการค่ะ

          สิ่งที่อยากแชร์ให้กับน้องๆ นะคะ คือ Portfolio ของแพทย์จุฬาภรณ์ฯ ต้องใช้ Font ของทางมหาวิทยาลัยเท่านั้นนะคะ โดยต้องใช้ Font ขนาด 16 Point ห้ามเล็กหรือใหญ่ไปกว่านี้ค่ะ  ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องกลับมาพิจารณา Portfolio ใหม่เพราะขนาดอักษรที่ใหญ่ทำให้เราใส่ข้อมูลได้น้อยลง และยิ่งทางมหาวิทยาลัยจำกัดจำนวนหน้าแค่ 10 หน้า ซึ่งในนั้นต้องมีทั้ง Essay ที่ Font ขนาด 16 Point รวมอยู่ด้วยและหากนับหน้าปก ประวัติส่วนตัวที่เราต้องใส่แน่ๆ พอร์ตเล่มนี้ก็จะเหลือพื้นที่ใส่ข้อมูลได้น้อยมากค่ะ และแน่นอนว่า Portfolio จำนวนเท่านี้เราต้องใช้ทักษะ Story Telling ในการนำเสนอตัวเราให้กรรมการเห็นความน่าสนใจในตัวน้องๆ ให้ได้มากที่สุดค่ะ และเคล็ดลับอีกอย่างที่พี่อยากแนะนำคือ เราควรจะศึกษาเอกลักษณ์ แนวคิด นโยบายการทำงานของมหาวิทยาลัยที่เราจะไปสัมภาษณ์นะคะ อย่างเช่นที่จุฬาภรณ์ฯ มีแนวทางเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้และด้อยโอกาส ให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐาน ซึ่งเราก็ควรนำสิ่งนี้มาแสดงใน Portfolio และการสัมภาษณ์ให้กรรมการได้เห็นอย่างเป็นธรรมชาติค่ะ

Portfolio - คณะแพทย์ - น้องต้นน้ำ - Bigcover03

การทำวิจัยคือผลงานที่สนับสนุน Portfolio ด้านวิชาการ เลือกหัวข้อที่ไม่ยากแต่สามารถสื่อความเป็นตัวเอง

         ตามที่ต้นน้ำได้บอกไปข้างต้นนะคะ ว่ามีการใส่งานวิจัยที่เคยทำเพื่อ Support Portfolio ด้านวิชาการ พี่อยากแนะนำน้องๆ ว่าถ้าจะทำวิจัยให้เลือกหัวข้อที่ตรงกับความสนใจของเราอย่างแท้จริง และไม่จำเป็นต้องใช้หัวข้อที่ยากมากมาย เอาที่เราสามารถทำเองได้และสามารถนำเสนอกับกรรมการว่างานวิจัยชิ้นนี้ ทำแล้วได้อะไร และได้ให้ความรู้อะไรกับน้องๆ บ้างค่ะ อย่างเช่นที่ต้นน้ำเลือกทำวิจัยจากความชอบและ Passion ที่อยากเป็นหมอด้านจิตเวช เราเลยทำวิจัยเรื่องโรคสมาธิสั้น ขึ้นมาค่ะ เนื่องจากเรายังรู้สึกว่าในประเทศไทย คนยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ไม่ชัดเจนเท่าไร และไม่รู้ว่าโรคสมาธิสั้นก็สามารถรักษาให้หายได้ หรือถ้าน้องๆ ไม่รู้จะทำวิจัยเรื่องอะไร อย่างที่พี่บอกไปว่าถ้าเราไปศึกษาข้อมูลของคณะและมหาวิทยาลัยที่เราจะยื่น เราก็จะได้ Content ที่สามารถนำมาต่อยอดได้เยอะแยะเลยค่ะ อย่างเช่น แพทย์จุฬาภรณ์ที่มีการรักษาโรคมะเร็ง ถ้าใครอยากเข้าที่นี้ก็สามารถทำวิจัยเกี่ยวกับมะเร็งได้เลย หรือถ้าอยากศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ของแพทย์จุฬาภรณ์ ได้ที่ลิ้งค์ http://www.pccms.ac.th/ นี้ได้เลยค่ะ ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องไปวิจัยมะเร็งในห้องแล็บก็ได้ แต่เราสามารถนำงานเขียนหลายๆ งานที่เกี่ยวกับหัวข้อโรคมะเร็ง มาวิเคราะห์และสร้างประเด็นใหม่ให้น่าสนใจ เช่น ประเด็นคลื่นโทรศัพท์มีผลต่อการเกิดมะเร็งจริงหรือไม่  น้องๆ ก็ต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็ง คลื่นความถี่มีผลอย่างไรกับโรคมะเร็ง หรือหากคลื่นความถี่มีผลต่อสัตว์แล้วจะมีผลกับมนุษย์ไหม ซึ่งน้องๆ สามารถนำทุกประเด็นมาเชื่อมโยง และสร้างสรรค์เป็นหัวข้องานวิจัยที่เราจะทำใหม่ได้ค่ะ แต่พี่แนะนำว่าการทำอย่างนี้น้องต้องศึกษาข้อมูล และอ่านหนังสือเยอะมากๆ เลยนะคะและ Reference ที่นำมาใส่ก็ควรมาจากแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือมากๆ อีกด้วยเพื่อ Support งานวิจัยของเราให้ได้มากที่สุดค่ะ

กิจกรรมจิตอาสาคือการเติมเต็ม Passion และตอกย้ำความน่าสนใจในตัวเด็กที่ต้องการยื่นเข้าแพทย์

         เด็กที่ติดแพทย์รอบ 1 ไม่ใช่เด็กที่มีรางวัลติดตัวมากมาย แต่เป็นเด็กที่สามารถนำเสนอตัวเองได้อย่างน่าสนใจ จนทำให้มหาวิทยาลัยเรียกไปสัมภาษณ์ค่ะ ซึ่งแน่นอนว่าการทำจิตอาสา เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ต้นน้ำได้รับโอกาสนี้เช่นกันค่ะ เราจึงอยากมาแชร์ประสบการณ์ให้น้องที่มีความฝันเหมือนกันได้ไปสัมผัส เพราะการทำจิตอาสาเหมือนการเติมเต็ม Passion ในการอยากเรียนแพทย์ของเรา ทุกกิจกรรมจิตอาสาที่ต้นน้ำได้ไปร่วม มันตอกย้ำว่าเราอยากไปอยู่ในจุดนั้น จุดที่เราจะได้ช่วยเหลือผู้อื่นค่ะ

         เริ่มจากการทำจิตอาสา ที่เรารู้สึกพิเศษที่สุดเลยค่ะ ที่นี่คือสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โรงพยาบาลราชวิถี ปกติแล้วการทำจิตอาสา ต้องให้โรงเรียนรวบรวมรายชื่อส่งให้สถาบัน แต่ที่นี่ให้เรา Walk-in เข้าไปได้เลยค่ะ น้องๆ จะทำวัน-เวลาไหนก็ได้ แต่ถ้าอายุต่ำกว่า 18 ต้องให้ผู้ปกครองมาเซ็นรับรองนะคะ และถ้าทำจิตอาสาที่นี่ครบ 30 ชั่วโมงเราจะได้ใบประกาศนียบัตรด้วยค่ะ แต่ต้องขอล่วงหน้าอย่างน้อย 2 เดือน เพราะโรงพยาบาลจะให้ผอ.เซ็นเลยค่ะ ถือว่าเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่และน่าเชื่อถือมากๆ สำหรับการนำไปใส่ Portfolio นะคะ  

         งานแรกที่ต้นน้ำได้ทำในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี คือการแจกคิวคนไข้ค่ะ เพื่อทดสอบว่าเราอยากทำจริงไหม และอยู่กับสภาพแวดล้อมแบบนี้ได้หรือเปล่า จากนั้นพี่เขาก็ให้เราไปแผนกเจาะเลือด ด้วยความที่เราเป็นคนที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดี พี่ๆ ในแผนกเลยให้เราได้ไปเทคแคร์ดูแลผู้ป่วยแบบใกล้ชิดด้วยค่ะ พอต้นน้ำทำที่แผนกเจาะเลือดสักระยะ เราก็อยากพัฒนาไปทำส่วนอื่นจึงขอเข้าไปช่วยในวอร์ดผู้ป่วย ซึ่งตรงนี้จะยากมากเพราะวอร์ดผู้ป่วยคนเยอะและวุ่นวาย เราอาจเป็นภาระเขาก็ได้ แต่ที่ผ่านมาพี่ๆ เห็นว่าเราตั้งใจทำจริงๆ เขาจึงให้ต้นน้ำขึ้นไปช่วยในวอร์ดศัลยกรรมเด็กโตค่ะ มันเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก เพราะเราได้ไปเทคแคร์น้องๆ ได้เช็ดแผล ได้ดูแลผู้ป่วยแบบจริงจัง ในตอนที่อยู่วอร์ดนี้เราก็ได้เจอกับเคสน้องที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่จะมีก้อนที่คอค่ะ ตอนนั้นหมอก็เข้ามาสัมผัสคอน้องเพื่อตรวจเช็คร่างกาย ซึ่งก็เป็นปกติที่น้องจะเจ็บ แต่คุณแม่ก็โวยวายต่อว่าหมอเป็นเรื่องราวใหญ่โตเลยค่ะ พอเราได้เห็นอะไรแบบนี้มันตอกย้ำให้เรารู้ว่า การทำงานด้านการแพทย์ถือเป็นงานสายบริการอย่างหนึ่ง ถ้าเรามองโลกในแง่บวกเราก็จะสามารถรับมือ และมีความสุขกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ค่ะ นอกจากประสบการณ์เหล่านี้ เรายังได้มีโอกาสใช้เครื่องมือในโรงพยาบาลจริงๆ ตอนนั้นได้ผสมสัดส่วนน้ำเกลือต่อยา และยังได้เป็นคนส่งกระสวยเข้าห้องแล็บด้วยค่ะ เรารู้สึกเท่มากตอนนั้นแม้จะไม่ได้ถ่ายรูปสักเท่าไร แต่เราก็สามารถนำเรื่องราวทุกอย่างมาเล่าให้คนอื่นฟังได้อย่างละเอียดเลยค่ะ เพราะเราตั้งใจทำมันจริงๆ

         แต่ถ้าใครไม่ชอบโรงพยาบาล ต้นน้ำก็มีสถานที่แนะนำให้ไปทำจิตอาสาอีกหลายที่เลยค่ะ เช่น สถาบันคนตาบอด น้องๆ สามารถไปอ่านหนังสือเสียงให้พวกพี่ๆ ฟังได้นะคะ ซึ่งตอนนั้นเราได้ไปอ่านหนังสือเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อแสดงศักยภาพด้านนี้ของเรา โดยตอนอ่านก็อัดเสียงและนำใส่ลิงค์ QR Code เพื่อใส่พอร์ตเป็นหลักฐานว่าเราไปทำมาจริงๆ หรือจะเป็นการร่วมกิจกรรมสอนหนังสือภาษาอังกฤษที่วัดไทร เราจะได้แบ่งปันความรู้พร้อมพัฒนาทักษะของเราไปด้วย ทั้งยังช่วยให้เรากล้าแสดงออกต่อหน้าผู้คนเยอะๆ ด้วยนะคะ และถ้าใครมีทักษะการวาดรูป ต้นน้ำก็อยากให้ลองไปแข่งขันสร้างนิทานภาษาอังกฤษที่ Neilson Hays Library เพราะเราสามารถนำรางวัลนี้มา Support ศักยภาพภาษาอังกฤษของเราได้อย่างดีเลยค่ะ   นอกจากนี้น้องๆ ยังสามารถไปร่วมกิจกรรมจิตอาสาขององค์กรที่มีความน่าเชื่อถืออย่างสภากาชาดไทย ตอนนั้นต้นน้ำได้ลงพื้นที่สถานีขนส่งหมอชิต เพื่อรณรงค์เมาไม่ขับอย่างจริงจังเลยค่ะ

Portfolio - คณะแพทย์ - น้องต้นน้ำ - Bigcover04

กำลังใจจากพี่ต้นน้ำที่อยากฝากถึงน้องๆ ที่กำลังเหนื่อยล้ากับการเตรียมตัวสอบ 

         สิ่งที่ต้นน้ำอยากฝากถึงน้องๆ ที่อยากเข้าแพทย์และกำลังเตรียมตัวสอบทุกคนนะคะ บางทีเราจะท้อมากในการทำโจทย์ เราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เราจะได้คะแนนตามที่หวังสักที แต่พี่อยากให้น้องๆ เป็นเหมือนหางเสือของเรือที่อยู่กลางทะเลค่ะ แม้เรือจะสั่นไหว แต่น้องต้องเป็นหางเสือที่ตั้งตรง และมีจุดหมายที่จะมุ่งไปข้างหน้าอย่างแน่วแน่ สำหรับพี่การไปทำจิตอาสา เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูความเหนื่อยล้าจากการอ่านหนังสือเยอะๆ มันทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่านี่คือสิ่งที่เราต้องเจอ ถ้าเราชอบ เราจะอยากทำทุกวิถีทางให้เราไปถึงจุดนั้นได้จริงๆ ค่ะ

         อย่างที่สองเลย ขอพูดตรงๆ ว่าความขยันเป็นสิ่งสำคัญมาก สมองเราก็เหมือนแม่น้ำนะคะ ยิ่งน้ำไหลผ่านมากเท่าไร แม่น้ำก็จะลึกมากขึ้นเท่านั้น เราต้องทำโจทย์เยอะมากๆ ทำซ้ำๆ จนเราเข้าใจเทคนิคกระบวนการคิดของข้อสอบแต่ละวิชา เพราะทุกข้อสอบ ทุกวิชาจะมี Pattern ของตัวมันเอง เช่น การฝึกทำโจทย์ Critical Analysis ถ้าเราทำบ่อยๆ สมองเราก็จะชินกับแนวคิดแบบนั้นค่ะ ซึ่งแนวคิดนี้จะช่วยให้เราทำงานวิจัยได้ดีขึ้นด้วยนะคะ และที่สำคัญการฝึกทำโจทย์เยอะๆ จะท้าทายให้เราพัฒนา อยากทำคะแนนให้ดีขึ้นทุกๆ รอบด้วยค่ะ

         และสุดท้ายเลยค่ะ สำคัญที่สุด!! ภาษาอังกฤษอย่าทิ้งเด็ดขาด เพราะมันคือสิ่งที่น้องๆ ต้องใช้ตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่การสอบ การทำ Portfolio การสัมภาษณ์หรือการทำงานจริงๆ ก็ต้องใช้ภาษาอังกฤษ แม้น้องจะเลือกไปสอบกสพท. แต่น้องก็ต้องเจอข้อสอบภาษาอังกฤษอยู่ดีนะคะ พี่อยากแนะนำว่าให้พวกเราฝึกภาษาอังกฤษจากการดูหนัง ดูซีรีส์ หรือฟังเพลงเพราะภาษาอังกฤษจากสื่อเหล่านี้ จะเป็นภาษาที่คนใช้ ไม่ใช่ภาษาที่หนังสือใช้ ฉะนั้นจะมีความเป็นธรรมชาติมากกว่า แต่ถ้าน้องๆ คนไหนชอบอ่านหนังสือนิยายหรือหนังสือการ์ตูน ก็สามารถช่วยได้เยอะเหมือนกันนะคะ

         เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับเรื่องราวและเคล็ดลับของพี่ต้นน้ำ ที่วันนี้ใจดีมาแนะนำวิธีการทำ Portfolio เพื่อยื่นเข้าคณะแพทย์ แบบหมดเปลือกกันเลยทีเดียว ต้องขอขอบคุณน้องต้นน้ำมากๆ ที่มาแชร์ประสบการณ์ให้กับน้องๆ ignite ที่มีความฝันเดียวกันนะครับ และสำหรับน้องๆ คนไหนที่อยากเข้าแพทย์ด้วยคะแนน BMAT แบบพี่ต้นน้ำ อย่าลืมเข้าไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ BMAT เพิ่มเติมที่ Link: https://www.ignitebyondemand.com/category/bmat/

Shop online

Related Blog & News

ข่าวสารและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง

Comments

Comment Write a comment...