GED Ready เครื่องมือ(ไม่)ลับ อัพคะแนนตามเป้า!

GED Ready - เครื่องมือเตรียมสอบ GED ที่สำคัญที่สุด! - Thumbnail

         สวัสดีค่ะน้องๆ กลับมาพบกันอีกครั้งกับบทความ GED วันนี้พี่จะมาเล่าถึงเครื่องมือในการเตรียมสอบ GED ที่สำคัญมากๆ ที่เรียกว่า GED Ready โดยเฉพาะน้องๆ ที่วางแผนอยากจะไปสอบ GED และต้องการที่จะยื่นวุฒิตัวนี้เพื่อเข้าจุฬา หรือ ธรรมศาสตร์ ซึ่งตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป ทางที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้กำหนดเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำของ GED จาก 145 คะแนน (High School Equivalency) เป็น 165 คะแนน (GED College Ready) บอกเลยว่ายากกว่าเดิมมาก และที่สำคัญนโยบายใหม่ของ GED ตั้งแต่ปี 2017 (แอบไปถามทาง GED มาแล้ว ข้อมูลนี้คอนเฟิร์ม!!) ระบุว่า หากสอบผ่าน GED High School Equivalency ไปแล้ว (145/200) การทำเรื่องขอสอบใหม่เพื่อต้องการปรับคะแนนขึ้นจะไม่สามารถทำได้ทุกคนแล้วนะคะ ส่วนใครแก้ได้ใครแก้ไม่ได้เดี๋ยวพี่จะให้ข้อมูลไว้ข้างล่างค่ะ แต่เอาเป็นว่าตอนนี้มีเงื่อนไขเกิดขึ้นใหม่มากมาย สำหรับใครที่ยังยืนยันจะสอบ GED หลังจากนี้ การวางแผนและเตรียมตัวก่อนสอบเป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆ ค่ะ และเครื่องมือที่จะมาช่วยน้องๆ ในการเตรียมสอบรวมทั้งใช้ยื่นขอสอบใหม่ก็คือ GED Ready นั่นเอง

GED Passing Score มี 3 ระดับ

GED Passing Score มี 3 ระดับ - Bigcover2

         ก่อนจะเริ่มเล่าเกี่ยวกับ GED Ready พี่ก็ต้องขอทำความเข้าใจเรื่องคะแนนของตัววุฒิ GED กันอีกสักครั้ง เนื่องจากน้องๆ และผู้ปกครองสอบถามมาทาง Ignite เยอะมาก ตั้งแต่ที่ ทปอ. ปรับเกณฑ์คะแนนขึ้นเป็น 165 คะแนน แล้วคนที่เคยสอบได้ 145 คะแนนแล้วจะทำอย่างไร เรื่องนี้ต้องแยกออกเป็น 2 ประเด็น คือ

  1. เกณฑ์คะแนนที่ทาง GED ถือว่าได้รับวุฒิเทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนปลายคือ 145 คะแนน หมายความว่า น้องๆ ที่สอบครบทั้ง 4 วิชาแล้ว และแต่ละวิชาได้คะแนนเกิน 145 คะแนน น้องๆสามารถแจ้งเรื่องเพื่อของใบวุฒิ (GED Diploma) และ ทรานสคริปต์ (Transcript) จากทาง GED ได้เลย และวุฒิตัวนี้จะนับว่าน้องๆ จบการศึกษาเทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว คะแนนที่ได้มาจะแก้ไขไม่ได้และไม่มีวันหมดอายุ ว่าง่ายๆ เหมือนเป็นเกรดที่ได้รับตอนจบ ม.6 ซึ่งจะติดตัวเราไปตลอดชีวิตและปรับเปลี่ยนไม่ได้

  2. เกณฑ์คะแนนที่ ทปอ. กำหนด คือ เกณฑ์ที่เป็นแกนกลางในการยื่นเข้ามหาวิทยาลัยกำหนดไว้ที่ 165 คะแนน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคณะ แต่ละมหาวิทยาลัย ว่าจะยึดถือเกณฑ์นี้ไปใช้หรือไม่ ซึ่งที่แน่ๆ คณะอินเตอร์ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ธรรมศาสตร์ ใช้เกณฑ์นี้ ซึ่งก็คล้ายกับเกณฑ์สมัครเข้าเรียนคณะ A รับนักเรียนที่จบ ม.6 ด้วย GPA 3.50 ขึ้นไป ถ้าน้องที่ได้น้อยกว่านี้ ก็ต้องมองหาคณะอื่นที่รับนักเรียนด้วยเกรดที่น้อยลงมา โดยถ้าหากท้ายที่สุดแล้ว น้องๆ สอบแต่ละวิชาคะแนนไม่ถึง 165 คะแนนจริงๆ คณะอินเตอร์มหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนอื่นๆ หรือมหาวิทยาลัยในต่างประเทศก็ยังสามารถใช้วุฒิ GED ยื่นได้ และเพื่อความชัวร์ ติดตาม Admission Requirement ของแต่ละปีจากหน้าเว็บไซด์ของคณะที่น้องๆ สนใจ หรือโทรสอบถามไปเลยค่ะว่ารับ GED มั้ย ใช้คะแนนเท่าไหร่

GED Ready คืออะไร และ สำคัญอย่างไร

         GED Ready คือ แบบทดสอบเสมือนจริงของ GED Official ประกอบไปด้วย 4 วิชา ตามรายวิชาของข้อสอบ GED ได้แก่ ภาษาอังกฤษ (Reasoning Through Language Arts – RLA), สังคมศึกษา (Social Studies), วิทยาศาสตร์ (Science) และ คณิตศาสตร์ (Mathematical Reasoning) ซึ่งแบบทดสอบนี้จะเป็นแนวข้อสอบที่มีความคล้ายข้อสอบจริงมาก ทำผ่านหน้าเว็บไซด์ของ GED ตามลิงค์นี้เลย https://ged.com/study/ged_ready/ และเมื่อน้องๆ ทำแบบทดสอบครบชุดแล้ว ผลคะแนนจะปรากฎขึ้น คะแนนนี้มีความแม่นยำมาก น้องๆ สามารถคาดการณ์ผลสอบจริงได้จาก GED Ready ได้เลย

แล้วช่วงคะแนนที่น้องๆ ได้ บอกอะไรกับเราบ้าง

คะแนน GED Ready บอกอะไรบ้าง - Bigcover3-1

         ถ้าน้องๆ มีเป้าหมายคะแนนอยู่ในระดับ GED High School Equivalency หรือ 145/200 คะแนน แต่คะแนน GED Ready ที่น้องๆ ได้ต่ำกว่า 145 คะแนน พี่แนะนำว่าอย่าเพิ่งไปสอบจริงค่ะ เพราะน้องๆ มีแนวโน้มที่จะสอบจริงไม่ผ่าน ถ้าคะแนนออกมาแบบนี้ น้องๆ ควรกลับไปทบทวนตำรา หรือทำแบบฝึกหัดเพิ่มเติมจากในหนังสือก่อน ค่อยกลับมาลองสอบ GED Ready ชุดใหม่อีกครั้งก่อนไปสอบจริง จากประสบการณ์ที่เห็นน้องๆ ทดสอบ GED Ready ก่อนไปสอบจริงมาเป็นร้อยคนแล้ว แม้จะได้ 144 คะแนนใน GED Ready ก็อย่าเสี่ยงไปสอบเลยค่ะ แนวโน้มที่จะสอบไม่ผ่านก็ยังสูงอยู่ดี น้องๆอย่าลืมนะคะว่า การสอบ GED รอบจริง หากน้องๆ สอบไม่ผ่านติดต่อกัน 3 ครั้ง น้องๆ จะติด Blacklist และถ้าต้องการไปสอบใหม่ในครั้งที่ 4 น้องๆ ต้องรอ 60 วันก่อนจึงจะสามารถสอบใหม่ได้ ดังนั้นเอาแบบไปสอบแล้วผ่านชัวร์ๆดีกว่าค่ะ อย่าเสี่ยงให้ตัวเองติด Blacklist เลย เพราะจะเสียเวลารอสอบใหม่ไปตั้งสองเดือนแหน่ะ

         และถ้าน้องๆ มีเป้าหมายคะแนนอยู่ในระดับ College Ready หรือ 165/200 คะแนนจาก GED Ready ก็ประเมินความสามารถน้องๆ ได้อย่างแม่นยำเช่นกัน ซึ่งตั้งแต่ปี 2017 มานี้ การขอสอบใหม่เพื่อปรับคะแนนกับทาง GED อาจจะขอไม่ได้ทุกเคสแล้ว ทางเดียวที่ทำให้เราได้ 165+ แน่ๆ แบบไม่พลาด คือ ทำ GED Ready อย่างน้อย 3 ชุด ให้ได้ 165 คะแนนขึ้นไปทั้ง 3 ชุดเลย แบบนี้รอดแน่นอน ไม่ต้องห่วงค่ะ (แต่ก่อนวันสอบจริงนอนให้เพียงพอ เตรียมร่างกายตัวเองให้ดีๆนะคะ ถ้านอนดึก สมองเบลอ อ่านเรื่องไม่ทัน ควบคุมเวลาไม่ดี กดคำตอบผิด เดี๋ยวคะแนนจะไม่ถึง 165 เอานะ)

พอสอบเสร็จ หน้าจอจะขึ้นมาเป็นแบบนี้

GED Ready มากกว่าการทดลองสอบ - Bigcover4

         นอกจากน้องๆ จะทราบความพร้อมของตัวเองผ่านคะแนนที่ได้รับแล้ว ในผลสอบจะมีส่วนที่วิเคราะห์จุดอ่อน และคำแนะนำในการเตรียมตัวเพิ่มเติมเพื่อให้ได้คะแนนมากขึ้นด้วย มีการแนะนำหนังสือ บอกทักษะที่ควรเพิ่มเติม และระบุหน้าในหนังสือนั้นๆ ให้ด้วย ซึ่งพี่ว่ามันเป็นแนวทางและคำแนะนำที่ดีมากๆ ทำให้เรารู้ว่า เราต้องกลับมาทบทวนเรื่องอะไรเพิ่มเติม

เรื่องต้องรู้ GED Ready ใช้งานอย่างไร

เรื่องต้องรู้ GED Ready - Bigcover5

         การใช้งาน GED Ready ไม่ยากค่ะ ก่อนอื่นเข้าไปที่หน้าเว็บไซด์ของ GED เลือกหัวข้อ How to Graduate จากนั้นเลื่อนลงมาด้านล่าง จะเจอ Step 2: Take the official GED Mock Exam ก็คลิกที่ปุ่ม “Take the mock exam ” เลยค่ะ หรือ จะกดจากลิงค์นี้เลยก็ได้ >> https://ged.com/en/how-to-graduate/ged_ready/ เมื่อกดเข้าไปน้องๆ จะเจอหน้าจอนี้

ตัวอย่างหน้า GED Ready - ignite by ondemand

         GED Ready มีราคาชุดละ $6 หรือ ประมาณ 180 บาท ก่อนซื้อจะต้องสมัครและใส่ข้อมูลส่วนตัวให้เรียบร้อย (Sign Up) ใช้อีเมล์และข้อมูลส่วนตัวตามจริง และขอย้ำ! ถ้าเคยสมัครแล้ว อย่าสมัครซ้ำ เพราะจะส่งผลให้เกิดปัญหาในการสมัครสอบ หรือ ในส่วนของการขอวุฒิค่ะ ถ้าเคยสมัครแล้ว และจำรหัสไม่ได้ ส่งอีเมล์ไปแจ้งข้อมูลและสอบถามขั้นตอนการแก้ไขปัญหากับทาง GED ดีกว่า ที่อีเมล help@ged.com

ขั้นตอนการชำระเงิน GED Ready - ignite by ondemand

         เมื่อกด Buy แล้ว จะมีหน้าจอให้เลือกว่าจะซื้อวิชาอะไรบ้าง เมื่อเลือกวิชาที่ต้องการจะทำแล้วจะเข้าสู่ขั้นตอนการชำระเงินค่ะ เมื่อซื้อแล้วน้องๆ จะกดเข้าไปทำข้อสอบเลย หรือจะเก็บไว้ก่อนแล้วค่อยทำในวันเวลาที่สะดวก โดยเมื่อซื้อ GED Ready แล้ว สามารถเก็บไว้ได้ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อ ในระบบมีข้อสอบหลายชุดมาก ถ้าซื้อหลายชุดเพื่อฝึกทำหลายครั้ง ไม่ต้องกังวลเรื่องข้อสอบซ้ำค่ะ

อัพเดทข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับ GED Ready ที่ควรทราบ

  • ข้อสอบคำนวณบางข้อของ Mathematical Reasoning และ Science สามารถใช้เครื่องคิดเลขได้ ซึ่งหากข้อใดที่อนุญาตให้ใช้เครื่องคิดเลข บนจอคอมพิวเตอร์จะขึ้นเครื่องคิดเลขมาให้กดเลยค่ะ

  • ข้อสอบวิชา Reasoning Through Language Arts (RLA) ส่วนที่เป็นข้อเขียน (Extended Response) จะไม่ได้ถูกตรวจ คะแนนที่ปรากฎขึ้นภายหลังการกดส่งข้อสอบจะเป็นการคำนวณจากข้อที่เป็นการอ่านเท่านั้น แต่ในหน้าสรุปผลคะแนนจะมีงานเขียนที่น้องๆ ได้ลองเขียนเอาไว้ สามารถปริ้นท์ออกมาให้ครูช่วยตรวจและประเมินผลงานได้ค่ะ

  • ในส่วนของวิชา RLA พี่ขอทำความเข้าใจเพิ่มเติมอีกครั้ง ซึ่งจริงๆ เคยเขียนอธิบายไว้ในบทความก่อนหน้านี้แล้ว () วิชา RLA แบ่งส่วนของข้อสอบเป็น 2 ส่วน คือ Part 1 – การอ่าน และ ไวยากรณ์พื้นฐาน จำนวนคำถามโดยประมาณ 45-53 ข้อ และ Part 2 – การเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ – Extended Response ให้เวลา 45 นาที ในการสอบจริง สัดส่วนคะแนนของ Part 1 (การอ่าน/ไวยากรณ์) คิดเป็น ≅ 70% และ Part 2 Extended Response ≅ 30% ซึ่งใน GED Ready จะเอาแค่ส่วนของข้อสอบ Part 1 มาประเมิน หากคะแนนที่น้องได้ คือ 145 คะแนน ทั้งๆที่ยังไม่ได้คำนวณคะแนนการเขียน น้องก็มีโอกาสสอบผ่านในข้อสอบจริงสูงมากค่ะ

  • ข้อสอบ GED Ready จะมีจำนวนข้อเป็นครึ่งหนึ่งของข้อสอบจริง ดังนั้นการจับเวลาในระบบก็จะลดลงมาครึ่งหนึ่งด้วยเช่นกัน เช่น GED Social Studies สอบจริงมีจำนวนข้อประมาณ 30 ข้อ เวลาที่ใช้สอบ 70 นาที ดังนั้นใน GED Ready จำนวนข้อจะอยู่ที่ 17-18 ข้อ เวลาสอบ 35 นาที

อัพเดทเงื่อนไขการขอสอบใหม่กับทาง GED (นโยบายตั้งแต่ปี 2017)

อยากขอสอบ GED ใหม่ใช้อะไรบ้าง - Bigcover6

         ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2017 ทาง GED ออกนโยบายการขอสอบใหม่สำหรับผู้สอบในต่างประเทศ (International test takers) โดยผู้สอบอาจจะไม่สามารถมีสิทธิสอบใหม่ได้หลังจากที่ผู้สอบได้คะแนน GED Passing Score (145/200) แล้ว แต่ทั้งนี้ทาง GED อาจให้การยกเว้นในบางกรณีซึ่งไม่สามารถการันตีได้ว่าผู้ยื่นคำร้องมาที่ GED จะสามารถสอบใหม่ได้ทุกคน

หากวันนี้ผู้สอบคนใดมีความประสงค์ที่จะขอสอบใหม่หลังจากที่ได้ GED Passing Score หรือ 145/200 คะแนนแล้ว ผู้สอบจะต้องยื่นคำร้องและแจ้งข้อมูลดังต่อไปนี้ แล้วส่งมาที่ help@ged.com

  • ชื่อและนามสกุลจริง (Your first and last name)
  • วันเกิด (Date of birth)
  • วิชาที่ต้องการสอบใหม่ (Subject to retest)
  • คะแนนสอบที่ได้ (Passing score)
  • วันที่เข้าไปทำ GED Ready ของวิชานั้นครั้งล่าสุด (Date of most recent GED Ready)
  • คะแนนล่าสุดที่ได้จาก GED Ready (Score on most recent GED Ready)
  • เหตุผลที่ต้องการขอสอบใหม่ (Explanation for why you need to test again)
  • สถาบันการศึกษาที่จะใช้ GED ยื่นเข้า (The institution you intend to submit your new score to)
  • ข้อมูลสำหรับการติดต่อของสถาบันการศึกษาที่จะใช้ GED ยื่นเข้า (The contact information for the institution)
      

         การส่งข้อมูลครั้งนี้ไม่ได้การันตีว่าผู้ยื่นคำร้องจะสามารถสอบใหม่ได้ หรือถ้าหากได้รับการยกเว้น จะอนุญาตให้สอบใหม่ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น และการยื่นคำร้องหนึ่งครั้ง หมายถึงการขอสอบ 1 วิชา ในการยื่นคำร้องหนึ่งครั้งจะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 2-3 สัปดาห์ และจากข้อมูลที่พี่เอามาให้ดู คะแนน GED Ready สำคัญมาก ๆ สำหรับน้องที่ต้องการทำเรื่องสอบใหม่ ดังนั้น อย่าลืมสอบเก็บเอาไว้ด้วยนะคะ

สุดท้ายนี้ หากน้องๆ และผู้ปกครองท่านใด ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ GED หรือต้องการวางแผนศึกษาต่อคณะอินเตอร์ในไทย หรือ ต่างประเทศโดยใช้ GED ยื่น สามารถติดต่อตอบถามเพิ่มเติมได้ที่สาขา ignite by Ondemand อาคารสยามพิวรรธน์ทาวเวอร์ ชั้น 12B หรือทาง Line @ignitebyondemand 

ดูรายละเอียดคอร์ส GED เพิ่มเติมทาง >> https://www.ignitebyondemand.com/our-courses/ged/

Related Blog & News

ข่าวสารและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง

Comments

Comment Write a comment...