ไขข้อสงสัย ความแตกต่างระหว่างหลักสูตร A-Level, IB, AP ในระบบการศึกษาแบบนานาชาติ

ความแตกต่างระหว่างหลักสูตร - A-Level - IB - AP - ในระบบการศึกษาแบบนานาชาติ - Thumbnail

         ในยุคที่โรงเรียนนานาชาติในไทยพากันผุดเป็นดอกเห็ด บรรดาผู้ปกครองและน้องๆ ก็อาจจะสับสนกับระบบและหลักสูตรต่างๆ ของ โรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย ทำไมคนนั้นเรียน A-Level แล้ว ระบบ IB ละคืออะไร ทำไมบางโรงเรียนถึงเลือกได้ทั้งสองแบบ ในขณะที่บางโรงเรียนมีแค่ AP แล้วต้องสอบ SAT ด้วย ??

         วันนี้พี่เอมี่และพี่แทนจะมาเล่าให้ฟังคร่าวๆ เกี่ยวกับความต่างของแต่ระบบวิชาในโรงเรียนกันค่ะ โดยหลักสูตรที่ popular ที่สุดในประเทศไทยคงจะหนีไม่พ้นหลักสูตรอังกฤษ ตามด้วยหลักสูตรอเมริกัน และ หลักสูตร IB ตามลำดับ

ความแตกต่างระหว่างระบบการศึกษานานาชาติ

หลักสูตรอังกฤษ - หลักสูตรอเมริกัน - หลักสูตร IB

ความแตกต่างการศึกษาระบบนานาชาติ - ระบบอเมริกัน - ระบบอังกฤษ - ระบบ ib - Bigcover2

         พอจะเห็นภาพความแตกต่างของระบบการศึกษาต่างๆ กันแล้วใช่ไหมคะ ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ปกครองที่กำลังเลือกโรงเรียนให้บุตรหลาน หรือน้องๆ ที่กำลังศึกษาอยู่ในระบบโรงเรียนนานาชาติต่างๆ ควรจะศึกษาหลักสูตรที่เหมาะกับความถนัดและความต้องการในการเรียนต่อในอนาคตมากที่สุดค่ะ

         ต่อไปเราจะมาแยกอธิบายเจาะลึกลงไปในแต่หลักสูตรนะคะ ว่ามีเนื้อหา เกณฑ์การให้คะแนน จุดเด่นที่สำคัญหรือแตกต่างกันอะไรยังไงบ้าง

หลักสูตร A-Level

หลักสูตร A-Level - ในระบบการเรียนแบบนานาชาติ - Bigcover3

         เราจะมาเริ่มกันที่ หลักสูตร A-Level ซึ่งต้องเรียกได้ว่าขั้นกว่าของ IGCSE (ที่นักเรียนต้องเรียนตอนอยู่ Year 10-11) โดยเนื้อหาของ A level นั้นต้องเรียนทั้งหมด 2 ปี คือ Year 12-13 หลายวิชานั้นจัดได้ว่าเข้มข้นและเนื้อหาลึกมาก อาจเทียบเท่าเนื้อหาปี 1 หรือปี 2 ของมหาวิทยาลัยในไทย เราจึงแบ่งการเรียน A-Level ให้เข้าใจง่ายๆ เป็น 2 ระดับ ได้แก่

  • AS Examination(Advanced Subsidiary) โดยทั่วไปคือการเรียนในช่วง Year 12
    เกรดที่จะได้ ได้แก่ a,b,c,d,e โดยน้องๆ จะต้องเลือกเรียน 4 วิชา
    เกรดที่ได้ถือว่าสอบผ่านทั้งหมด แต่การสอบผ่านเพียงระดับ AS Level จะถือว่าจบแค่เพียงครึ่งเดียว หรือครึ่งเครดิตของหลักสูตร A Level เท่านั้น


  • A2 Examination โดยทั่วไปคือการเรียนในช่วง Year 13
    ซึ่งเกรดที่จะได้นั้นมากสุดคือ A*,แล้วไล่มาที่ A,B,C,D,E ตามลำดับ โดยนักเรียนจะเลือกเรียนทั้งหมด 3-4 วิชา

         เนื้อหาของ As และ A2 นั้นมีความต่อเนื่องกัน เช่นเลือกเรียนวิชา Physics ในพาร์ทของ AS นั้นเทียบได้ว่าเป็น Physics บทที่ 1-2 พอขึ้น Year 13 นั้นก็เริ่มเรียนพาร์ท 3-4 ต่อไป

         ซึ่งจุดประสงค์ของการเรียน A-Level คือให้น้องๆ ที่ค้นพบตัวเองแล้วเลือกวิชาเรียนให้แคบลงให้เหมาะสมกับการยื่นคณะเข้าสู่ช่วงอุดมศึกษา เนื่องจากกว่าน้องๆ จะเรียน A-Level ได้นั้นต้องผ่านการสอบ IGCSE ที่มีวิชาบังคับ ใน Year 10-11 มาก่อน พอมาถึง A-Level ตัวหลักสูตรนี้จึงไม่มีการบังคับว่าน้องๆ จำเป็นจะต้องเลือก Math, Science หรือ English อีก ทำให้นักเรียนบางคนอาจพลาดโอกาสไปอย่างเสียดายหากขาดการแนะแนวที่ถูกต้อง หรือเลือกวิชาผิด การเลือกตามเพื่อน หรือเลือกเพราะความชอบไม่ชอบในวิชานั้นๆ

         การเลือกวิชาผิดนี้อาจส่งผลถึงอนาคตการยื่นคณะเข้ามหาวิทยาลัย เช่น นักเรียนเพิ่งมารู้ตัวว่าอยากเข้าคณะวิศวกรรม ตอนอยู่ Year 13 ช่วงปลายๆ แต่ตอนต้นเทอมไม่เลือกเรียน Physics แล้วนั้น บางมหาวิทยาลัยที่เป็นตัวท็อปในภาควิชานั้นๆ อาจจะปฏิเสธการยื่นสมัครของน้องๆ เพราะขาดวิชาหลักอย่าง Physics เป็นต้น การเลือกวิชาเพื่อทำ A-Level จึงค่อนข้างสำคัญอย่างมาก เพราะ 3-4 วิชาที่เราเลือกเลือกเราต้องอยู่กับมันสองปีเต็ม เนื้อหาในแต่ละวิชาก็ค่อนข้างที่จะลึกมาก หากเลือกพลาดแล้วต้องการจะเปลี่ยนอาจจะไม่ทันเอาได้ น้องๆ จึงควรจะต้องค้นหาตัวเองให้เจอก่อนตั้งแต่ก่อนขึ้น Year 12-13 ว่าอยากเข้าคณะอะไร ทำอาชีพไหนในอนาคตกันแน่แล้วค่อยตัดสินใจค่ะ

จำนวนวิชากับการจบหลักสูตร A-Level

         การเรียนจบ 3 วิชาขึ้นไปใน Year 13 นั้นจะถือว่าน้องๆ เรียนจบหลักสูตร A-level (รวมกับ IGCSE 5 วิชา ในตอน year 10-11 จะถือว่าได้วุฒิมัธยมปลาย ) แต่หากอยากเข้า Top University ในต่างประเทศ การทำได้ถึง 4 วิชานั้นอาจจะทำให้เรามีแต้มต่อที่มากกว่าในการยื่นผลคะแนน แต่หากวิชาที่ 4 นั้นทำได้ไม่ดี เราอาจจะดร็อปให้วิชานั้นเป็นเพียง AS level ก็ย่อมได้

        ทั้งนี้ทั้งนั้น ถึงหลักสูตร A-Level จะได้รับการยอมรับในสากล แต่เป็นที่รู้กันว่าการยื่นคะแนน A-Level เข้ามหาวิทยาลัยในอังกฤษและเครือจักรภพนั้นเป็นที่นิยมกว่า เพราะหากน้องๆ สนใจจะยื่นเข้ามหาวิทยาลัยในอเมริกา หรือยุโรป แค่เพียงคะแนน A-Level อาจจะไม่เพียงพอ เพราะเกณฑ์การรับเข้านั้นต่างกัน น้องๆ อาจจะต้องสอบ SAT หรือ ACT ควบคู่ไปด้วยค่ะ

ในส่วนของหลักสูตรต่อไปที่จะกล่าวถึง ก็คือ หลักสูตร IB ที่ขอเรียกว่าเป็น option เสริม มักมีให้น้องๆ เลือกเรียนในสองปีสุดท้ายของ high school ในหลายโรงเรียน ทั้งหลักสูตรอังกฤษและหลักสูตรอเมริกาเลยค่ะ

หลักสูตร IB (International Baccalaureate)

หลักสูตร IB diploma - ในระบบการเรียนแบบนานาชาติ - Bigcover4

         ในส่วนของ หลักสูตร IB นั้นคือหลักสูตรที่ประยุกต์และบูรณาการจากระบบการศึกษาต่างๆทั่วโลก เพื่อที่จะให้นักเรียนเอาคะแนนไปยื่นเข้าสอบหรือสมัครเรียนต่อในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในระดับนานาชาติ ใช้แพร่หลายมากกว่า 125 ประเทศ โดยจะมีมาตรฐานเดียวกันหมด

IB Programme จริงๆ แล้วแบ่งหลักสูตรออกเป็น 3 ระดับคือ

  1. Primary Years Program (3-12)
  2. Middle Years Program (11-16)
  3. Diploma Program (16-19)

         ซึ่งหลักๆ ใน blog นี้พี่เอมี่และพี่แทนจะขอโฟกัสไปที่พาร์ทที่จะยื่นเข้ามหาวิทยาลัยซึ่งเรียกว่า IB diploma นะคะ โดยวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งหลักสูตรนี้ก็เพื่อให้มีระบบการศึกษาในรูปแบบใหม่ที่เป็นที่ยอมรับเดียวกันจากทั่วโลก ซึ่งเหมาะมากสำหรับเด็กที่ต้องโยกย้ายไปแต่ละประเทศตามพ่อแม่ โดยการเรียน IB diploma นั้นใช้เวลาทั้งหมด 2 ปีค่ะ (2 ปีสุดท้ายก่อนเรียนจบ High school)

จุดเด่นของหลักสูตร IB

         โดยหากให้เทียบกันแล้ว อาจจะกล่าวได้ว่านักเรียนที่เรียนระบบ IB นั้นนับว่าต้องเรียนหนักหน่วงกว่าใครเพื่อนเลยค่ะ เพราะตัวหลักสูตรสนับสนุนให้น้องๆ นั้นมีความสามารถรอบด้าน สนใจสิ่งต่างๆ รอบตัวนอกจากวิชาการและมีองค์ความรู้ที่ลึกซึ้ง วิชาเรียนนั้นบังคับให้เรียนทั้งหมด 6 วิชาจาก 6 กลุ่มความรู้ เพื่อให้นักเรียนนั้นเรียนได้กว้างที่สุด นอกจากนั้นยังมีอีก 3 เงื่อนไขวิชาหลักที่ถ้าไม่ผ่านก็จะถือว่าไม่จบหลักสูตร IB เช่นกัน ซึ่งวิชาเหล่านั้นก็คือ

  • Theory of Knowledge (ToK) ฝึกการคิดวิเคราะห์เชิงวิพากษ์เกี่ยวกับมนุษย์และสังคม วัฒนธรรมของตนเองและโลกผ่าน essay 1200-1600 คำ
  • Creativity, Action, Service (CAS) โครงงานกิจกรรมนอกโรงเรียนที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ จิตอาสา เพื่อสังคมต่างๆ
  • Extended Essay (EE) การเขียนเรียงความในหัวข้อที่สนใจ 4000 คำ

         โดยนักเรียนที่ไม่ผ่านเงื่อนไข ทั้ง 3 ข้อนี้จะถือว่าไม่ได้จบ IB Diploma  แต่จะได้ได้เพียง IB Certificate เท่านั้น

         ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่า ระบบ IB นั้นเหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ชอบคิดนอกกรอบ ช่วยเหลือสังคม ไม่ใช่เพียงแต่เน้นวิชาการอย่างเดียว แต่พร้อมที่จะผลักดันการเรียนรู้และศึกษาวัฒนธรรมทั้งของตัวเองและชาติต่างๆ โดยไม่ปิดกั้น ฝึกให้เด็กมีจิตสาธารณะที่เอาใจใส่และเข้าอกเข้าใจความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมอย่างแท้จริง

         ซึ่งหลักสูตรนี้ มีส่วนช่วยอย่างมากเวลาน้องๆ ยื่น Portfolio
เข้ามหาวิทยาลัย เพราะจะมีประวัติที่น้องๆ ต้องไปทำกิจกรรมจิตอาสาช่วยเหลือสังคมอยู่แล้ว นับว่าจะเป็นแต้มต่อใน port ของน้องๆ ในการยื่นคณะในฝันอีกด้วยค่ะ ในส่วนของการยื่นเข้ามหาวิทยาลัย IB นั้นเป็นที่ยอมรับในมหาวิทยาลัยทั่วโลก ทุกประเทศ ดังนั้นหากน้องๆ ยังไม่แน่ใจว่ามหาวิทยาลัยที่อยากจะเข้านั้นคืออังกฤษ อเมริกา หรือในประเทศอื่นๆ เช่นในยุโรป การเลือกระบบ IB อาจจะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยมากๆ ค่ะ โดยในกรุงเทพนั้น โรงเรียนที่สอน ระบบ IB Full ตั้งแต่ปฐมวัยถึงมัธยม มีเพียง NIST, KIS, Concordian เท่านั้น โดยโรงเรียนระบบอื่นมักจะเป็นเพียง option ให้เลือกเรียน IB diploma เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยในช่วงอายุ 16-19 ค่ะ

หลักสูตร AP (Advanced placement)

หลักสูตร AP - ในระบบการเรียนแบบนานาชาติ - Bigcover5

         หลักสูตร AP คือ โครงการเพื่อการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งในส่วนของโรงเรียนนานาชาติหลักสูตรอเมริกันนั้น เป็นที่รู้กันว่าจะเน้นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมในช่วงประถมวัยแล้วควบคู่ไปกับการศึกษาวิชาการในวัยที่โตขึ้น เพื่อให้เด็กรับรู้ความต้องการของตนเอง หลายคนเลยอาจจะเข้าใจว่าการเรียนเชิงวิชาการของโรงเรียนระบบอเมริกันนั้นไม่หนักหน่วงเท่าหลักสูตร A-Level และ IB ซึ่งตรงนี้พี่ต้องบอกว่าไม่เสมอไปนะคะ เพราะในบางโรงเรียนหลักสูตรอเมริกันก็มี option ให้น้องๆ เลือก IB diploma ตอนอยู่ Grade สูงได้ๆ เช่น ISB, RIS

จุดเด่นหลักสูตร AP

         จุดเด่นข้อแรกของหลักสูตร AP คือ คนที่จะไปสอบไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กที่เรียนในโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนแบบ AP มาก่อนเท่านั้น แปลว่าน้องๆ สามารถหาหนังสือมาอ่านเองที่บ้านเพื่อเตรียมสอบได้เองค่ะ

         ซึ่งหลายคนอาจสับสนว่า AP นั้นเหมือนการสอบ A-Level หรือ IB หรือไม่ ในที่นี้พี่ต้องแจ้งน้องๆ ว่าการสอบนี้แตกต่างกันค่ะ เพราะ AP เป็นเหมือน “ทางลัด” การสอบเก็บคะแนนวิชาที่น้องๆ อยากจะยกเว้นไม่ต้องเรียนในมหาวิทยาลัย ปี 1 หากน้องๆ เรียนอยู่ Grade 12 ในโรงเรียนระบบอเมริกัน ทางโรงเรียนจะมีวิชา AP กว่า 30 วิชาให้นักเรียนเลือก

         ถ้านักเรียนมั่นใจว่าจะเข้าคณะวิศวะ น้องๆ อาจจะเลือกลง AP Physics หรือ AP Math ไว้ หากน้องๆ ทำคะแนนได้ดีมากในสองวิชานี้ ทางบอร์ดมหาวิทยาลัยอาจจะลงความเห็นให้น้องๆ สามารถเทียบโอนเกรดเพื่อไม่ต้องเรียนในวิชา physics 1 หรือ Math 1 ในปีแรก เพราะวิชา AP นั้นนับว่าเนื้อหาค่อนข้างเข้มข้นมาก เป็นความรู้ระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งหากน้องๆ ผ่านวิชานี้มาได้ก็นับว่าองค์ความรู้วิชาที่น้องๆ เลือกสอบนั้นเกินกว่าเด็กมัธยมในรุ่น ดังนั้นน้องๆ หลายคนที่รู้ตัวแล้วว่าจะเข้าเรียนคณะไหน บางคนอาจจะไม่เลือกทำ IB diploma ก็ย่อมได้ อาจจะแค่สอบวิชาที่โรงเรียนบวกกับ SAT และ AP บางวิชาเพื่อยื่นเข้ามหาวิทยาลัย ก็จะไม่หนักเท่ากับการทำ IB diploma แบบเต็มๆ ค่ะ

         สรุปแล้ว พี่เอมี่และพี่แทนมองว่าทุกหลักสูตรนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ต่างกัน การที่ผู้ปกครองหรือนักเรียนจะเลือกเรียนหลักสูตรไหนนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการเข้ามหาวิทยาลัยในแต่ละประเทศเป็นหลัก หากน้องๆ มั่นใจว่ายังไงก็จะยื่นเข้ามหาวิทยาลัยที่อังกฤษแน่ๆ การเลือกเรียน A-Level ก็อาจจะเพียงพอแล้วสำหรับการสอบเข้า ยกเว้นแต่ว่าโรงเรียนที่น้องๆ เรียนนั้นเป็นโรงเรียนที่มีแต่หลักสูตร IB อย่างเดียว ถ้าเป็นแบบนั้นน้องๆ ก็อาจจะได้เปรียบในการยื่นเข้าคณะได้หลากหลายขึ้นในมหาวิทยาลัยทั่วโลกค่ะ

         สำหรับน้องๆ คนไหนที่อยากเตรียมตัวล่วงหน้า ต้องการเรียนเสริมเฉพาะเพิ่มเติมเพื่อรับประกันคะแนนสำหรับการปูทางเข้าสู่มหาวิทยาลัย ทาง Ignite มีเหล่าครูผู้เชี่ยวชาญในวิชาหลักๆ ทั้ง A-Level , IB และ AP พร้อมรองรับน้องๆ ทั้งการเรียนแบบ 1on1 , mini private class จะเรียนเดี่ยวหรือจับกลุ่มเพื่อนกันมาเองก็ได้ จัดตารางเวลากันได้ตามสบายเลยค่ะ สามารถเข้ามาปรึกษาสอบถามวางแผนการเรียนได้ทาง Line : @igniteastar หรือคลิก https://bit.ly/3qOtyCB และโทร 02-6580023 , 091-5761475

ดูรายละเอียดคอร์สเรียน ignite A* เพิ่มเติมได้ทาง >> https://www.igniteastar.com/

Shop online

Related Blog & News

ข่าวสารและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง

Comments

Comment Write a comment...